จันทน์แดง ๒

Myristica iners Blume

ชื่ออื่น ๆ
จันทน์ป่า (ตราด); พร้าวเลดง (สุราษฎร์ธานี); สังขยา (นราธิวาส)
ไม้ต้น เปลือกนอกแตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา มียางสีแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่ม ผลแบบผลมีเนื้อเมื่อแก่แตกแนวเดียวกลางผลเป็น ๒ ซีก เมล็ดทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง

จันทน์แดงชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๕-๔๐ ม. ต้นที่ขึ้นในป่าพรุมีรากค้ำยัน สูง ๑.๕-๓ ม. รากหายใจคล้ายบ่วงครึ่งวงกลมขึ้นทั่วไปรอบโคนต้น กิ่งเรียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓ มม. เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เปลือกนอกแตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เปลือกในสีชมพูอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อนอมสีชมพู มียางสีแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๑๐ ซม. ยาว ๗-๒๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงค่อนข้างกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายเยื่อถึงบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ค่อนข้างเป็นมัน ด้านล่างเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เมื่อแห้งสีเขียวมะกอก เส้นกลางใบเรียบหรือเป็นสันเล็กน้อยทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๖ เส้น เป็นสันนูนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒.๘ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ ช่อแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่ม หรือเป็นปุ่มแข็งสั้น ใบประดับรูปไข่ ร่วงง่าย ก้านช่อดอกมีขนละเอียด ช่อดอกเพศผู้ยาว ๒-๘ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๒-๔ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๕-๑๕ ดอก ช่อดอกเพศเมียขนาดลดลงมาก มี ๑-๖ ดอก ดอกตูมที่เจริญเต็มที่ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียปลายไม่เป็นสันหรือเหลี่ยม กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูประฆัง พบน้อยที่เป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบบ้างที่มี ๒-๔ แฉก ปลายแฉกแหลม โดยทั่วไปปลายแฉกจะโค้งกลับ ดอกเพศเมียกว้างกว่าดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้มีใบประดับย่อยรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑.๕-๓ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ค่อนข้างติดทนหรือร่วงง่าย ก้านดอกเรียว ยาว ๐.๔-๑.๒ ซม. มีขนสั้นมากดอกตูมรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๒-๖ มม. ยาว ๔-๗ มม. แฉกลึก ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบรวม เกสรเพศผู้ ๑๐-๑๖ เกสร ยาว ๓-๖ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นก้านเส้าเกสร รูปทรงกระบอกหรือค่อนข้างป่องพอง กว้าง ๐.๖-๑ มม. ยาว ๑.๒-๓ มม. มีขนสั้นมากที่ครึ่งด้านล่าง อับเรณูชิดกัน รูปรีแกมรูปใบหอกกว้าง ๐.๖-๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. ติดด้านหลัง ดอกเพศเมียมีดอกตูมรูปไข่ กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาว ๔-๔.๕ มม. ก้านดอกยาว ๑-๗ มม. ก้านรังไข่สั้นมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ถึงเกือบกลม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก แยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. มีขนละเอียดสั้นนุ่มสีเทาแกมน้ำตาล เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง สุกสีเหลือง เปลือกหนา ก้านผลยาว ๑-๕ มม. แต่ละช่อมี ๑ ผล พบบ้างที่มี ๒-๓ ผล เมล็ดทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. สีดำ เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง จักเป็นริ้วแยกถึงโคนหรือเกือบถึงโคน มี ๑ เมล็ด

 จันทน์แดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดทั้งปี ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง และทำอุปกรณ์เครื่องใช้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์แดง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Myristica iners Blume
ชื่อสกุล
Myristica
คำระบุชนิด
iners
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
จันทน์ป่า (ตราด); พร้าวเลดง (สุราษฎร์ธานี); สังขยา (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา